ReadyPlanet.com


รวมข่าวดาวเทียม วันที่ 6 กุมพาพันธ์ 2014


กสทช.วอน ITU ร่วมมือจับคนรบกวนสัญญาณบลูสกาย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู เพื่อขอความร่วมมือในการจับตัวผู้ที่ปล่อยสัญญาณรบกวนสัญญาณดาวเทียมไทยคม จากนอกประเทศไทย ทำให้สัญญาณดาวเทียมสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ที่เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมถูกรบกวน แม้ว่าไทยคมจะแก้ปัญหาโดยการเตรียมช่องสำรองไว้รองรับแล้วก็ตาม ซึ่งในขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อจับกุม กสทช.จะต้องรู้พิกัดในการปล่อยคลื่นรบกวน โดยจะต้องส่งสัญญาณรบกวนยาวต่อเนื่องกัน 3 นาที จึงจะสามารถจับกุมได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยาก แม้ว่า กสทช. จะส่งรถตรวจจับสัญญาณออกประจำบริเวณลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และแยกแคราย จ.นนทบุรีแล้วก็ตาม แต่ก้ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้
        สถานีโทรทัศน์บลูสกายได้เช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม และดาวเทียมเอ็นเอสเอส 6 ของลักเซมเบิร์กไว้ โดยพบว่า สัญญาณที่ยิงผ่านดาวเทียมเอ็นเอสเอส 6 ไม่ถูกรบกวน แต่สัญญาณที่ผ่านไทยคมมีปัญหา ซึ่งการรบกวนเป็นในลักษณะการส่งคลื่นกวนสั้นๆ และย้ายสถานที่ส่งไปเรื่อยๆ จึงยังไม่สามารถจับกุมได้

 
 
 
 



ผู้ตั้งกระทู้ ช.การไฟ้ฟ้า :: วันที่ลงประกาศ 2014-02-06 19:02:30


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3315815)

สมาคมมีเดียฯประเมินงบโฆษณาผ่านสื่อปี 57 โต 5% มูลค่า 1.46 แสนล้าน คาดงบโฆษณาเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียมย้ายลง"ทีวีดิจิทัล"

การออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) เริ่มต้นจาก 24 ช่อง ประเภทบริการธุรกิจในเดือน เม.ย.นี้ ส่งผลต่อการกระจายตัวของผู้ชมแพลตฟอร์มโทรทัศน์ในประเทศไทย และการใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อทีวี 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ ฟรีทีวี เคเบิล/ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล

นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT เปิดเผยว่า ภาพรวมการซื้อสื่อโฆษณาปี 2556 เติบโต 3% รวมมูลค่า 135,806 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตในอัตราไม่สูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ และการลดงบประมาณของเจ้าของสินค้ารายใหญ่ เช่น พีแอนด์จี ลดลง 14% ลอรีอัล ลดลง 13% หากพิจารณารายกลุ่มสินค้า พบสกินแคร์ ลดลง 1% ค้าปลีกลดลง 8%

สำหรับปี 2557 คาดการณ์อุตสาหกรรมโฆษณามีมูลค่า 1.46 แสนล้านบาท เติบโต 5% อ้างอิงจากประมาณการจีดีพีปีนี้เติบโต 4% และสภาพเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และการขึ้นราคาของสื่อ โดยสื่อฟรีทีวี ปรับขึ้น 7% หนังสือพิมพ์ 1% นิตยสาร 3% สื่อในโรงภาพยนตร์ 2% สื่อเคลื่อนที่และอินโสตร์ 9% และอินเทอร์เน็ต 15%

ทีวีดิจิทัลปีแรก4.3พันล้าน

การเตรียมออกอากาศของทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ 24 ช่องแรกเดือนเม.ย.นี้ ภายใต้การบังคับใช้หลักเกณฑ์ Must Carry คาดว่ากลุ่มผู้ชมจะรับชมทีวีดิจิทัล ช่องใหม่จากแพลตฟอร์มเคเบิลและทีวีดาวเทียมเป็นหลัก เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงกลุ่มผู้ทีวีสัดส่วน 60-70% ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของฐานผู้ชมทีวี ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม คือ ฟรีทีวี เคเบิล/ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล

นางวรรณี กล่าวอีกว่า เนื่องจากทีวีดิจิทัล เริ่มออนแอร์ในเดือนเม.ย. ประกอบกับแผนการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) ปีแรกอยู่ที่สัดส่วน 50% คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีดิจิทัลปีแรกจะอยู่ที่ 4,300 ล้านบาท เป็นงบโฆษณาจากช่องทีวีดาวเทียมเดิม ที่ชนะประมูลและย้ายแพลตฟอร์มไปออกอากาศในทีวีดิจิทัล เช่น ช่องเวิร์คพอยท์ อาร์เอส ช่องทีวีดิจิทัลกลุ่มข่าว คาดว่ากลุ่มนี้จะครองสัดส่วน 80% ของงบโฆษณาทีวีดิจิทัล

"งบโฆษณาทีวีดิจิทัลปีแรก เชื่อว่าจะโยกย้ายมาจากแพลตฟอร์มสื่อทีวีด้วยกันเอง โดยเฉพาะเคเบิลและทีวีดาวเทียม รวมทั้งสื่ออื่นๆ ไม่ว่า วิทยุ หรือนิตยสาร"

ผู้ชมทีวีดิจิทัลปีแรก13%

นายรัฐกร สืบสุข กรรมการ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากแผนการส่งสัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิทัล ปีแรกที่ 50% ของครัวเรือนไทยจำนวน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ คาดปีแรกกรณีที่มีผู้ชมทีวีดิจิทัลมากที่สุดจะมีส่วนแบ่งการตลาด 13% ของฐานผู้ชมทีวีจากแพลตฟอร์มฟรีทีวี เคเบิล/ทีวีดาวเทียม และทรูวิชั่นส์

อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงข่ายเริ่มขยายการส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นในปีที่สองในอัตรา 80-90% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั่วประเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมสามารถเข้าถึงครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 75% จะเป็นปัจจัยขยายฐานผู้ชมทีวีดิจิทัลในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 50-60%

นางวรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทีวีดิจิทัล เริ่มออกอากาศในปีนี้ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนจะยุติระบบโทรทัศน์อนาล็อกภายใน 5 ปี คาดว่าหลังจากนี้โฆษณาฟรีทีวี อนาล็อกจะเริ่มโตแบบถดถอย นับจากปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งสมาคมฯ คาดการณ์งบโฆษณาฟรีทีวี เติบโต 2% คิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านบาท

นีลเส็นวัดเรทติ้งทีวีดิจิทัล

นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเสนอการทำวิจัยกลุ่มเสริม นอกเหนือจากการทำวิจัยกลุ่มหลัก ที่เคยจัดทำและรายงานผลสำรวจเรทติ้งประจำปี เพื่อปรับแผนงานให้รองรับกับการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ทั้งนี้ รูปแบบวิจัยกลุ่มเสริมจะสำรวจและวัดผลเพิ่มเติมการเข้าถึงหรือรับชมทีวีดิจิทัลของผู้ชม รวมถึงคุณภาพของระบบออกอากาศ โดยจากข้อมูลกฎมัสท์แครี่ (Must Carry)

คาดว่าจะเริ่มวัดเรทติ้งทีวีดิจิทัลในเดือน เม.ย. นี้ โดยใช้กลุ่มสำรวจจากบ้านตัวอย่าง (Sampling Size) เพิ่มขึ้น จากเดิม 1,800 ครัวเรือน หรือ 6,300 คน ซึ่งตั้งเป้าหมายเพิ่ม 200 ครัวเรือน ภายในปีนี้ และจะครบจำนวน 2,200 ครัวเรือน หรือ 7,000 คนภายในปี 2558 ส่วนการเพิ่มกลุ่มตัวอย่างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับช่องทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่สัญญาณทีวีดิจิทัลจะครอบคลุมทั่วประเทศ 100%

โดยจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่จะเพิ่มขึ้นรวม 400 ครัวเรือน ถือเป็นสัดส่วนที่นักสถิติประเมินว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในช่วงเริ่มต้นการสำรวจ นีลเส็น จะเป็นผู้ลงทุนสำรวจกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติม หลังจากนั้นคาดว่า ทาง กสทช.และแต่ละช่องทีวีดิจิทัล จะเข้ามาร่วมสนับสนุนหรือมาสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับบริการข้อมูลการสำรวจดังกล่าว

"ข้อมูลจากวิจัยเรทติ้งผู้ชม จะช่วยให้การใช้งบโฆษณาผ่านสื่อของสินค้าและเอเยนซี่ มีประสิทธิภาพในการลงทุนมากขึ้น"

นอกจากนี้บริษัทจะจัดทำผลสำรวจพฤติกรรมการเลือกใช้แพลตฟอร์มต่างๆของผู้บริโภค ทั้ง ทีวี สมาร์ทโฟนแทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค ซึ่งเริ่มทำในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์แล้ว ส่วนในสหรัฐมีการสำรวจในลักษณะเดียวกัน ในลักษณะเฉพาะ (Single Source) โดยติดตั้งเครื่องมอนิเตอร์วัดผลพฤติกรรมคนดูตามครัวเรือน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่วนในประเทศไทย จะใช้วิธีวัดผลด้านเข้าถึงคอนเทนท์ ในรูปแบบมัลติสกรีน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:05:10


ความคิดเห็นที่ 2 (3315816)

นาซาปล่อยแลนด์แซต 8 ดาวเทียมสำรวจโลกใหม่ขึ้นสู่อวกาศ

  เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) รายงานว่า ทางการสหรัฐฯ ยิงจรวดปล่อยดาวเทียมสำรวจสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศโลกดวงล่าสุด "แลนด์แซต 8" (Landsat 8) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อขยายกรอบโครงการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          โดย นายชาร์ลส โบลเดน ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แถลงว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการยิงจรวดแอตลาส 5 จากฐานปล่อยจรวดในเขตฐานทัพอากาศ แวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยจรวดลำนี้จะทำหน้าที่ปล่อยดาวเทียมแลนด์แซต 8 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงที่ 8 หรือดวงล่าสุดในปฏิบัติการสำรวจโลกแลนด์แซต

          ทั้งนี้ ข้อมูลที่กำลังจะได้รับจากดาวเทียมดวงนี้ จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญสำหรับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนต่อไป

          สำหรับดาวเทียมแลนด์แซต 8 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงที่ 8 หรือดวงล่าสุดในปฏิบัติการสำรวจโลกแลนด์แซตที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 โดยดาวเทียมจะลอยอยู่เหนือพื้นผิวโลกในรัศมี 735 กิโลเมตร เป็นเวลา 2 เดือน และโคจรรอบโลกวันละ 14 ครั้ง พร้อมกับถ่ายภาพพื้นผิวโลกในมุมต่าง ๆ รวมถึงน้ำทะเล และแนวปะการัง ส่งกลับมายังสถานีปฏิบัติการภาคพื้นดินให้ได้วันละ 400 ภาพ และทำแผนที่ส่งกลับมายังโลกทุก 16 วัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:14:02


ความคิดเห็นที่ 3 (3315817)

กรมอุทยานฯ หนุนใช้ดาวเทียมสำรวจป่า สำรวจทรัพยากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลด

ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิต   เมื่อวันที่ 27 มกราคม  นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อริเริ่มสนับสนุนการตรวจติดตามลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้โดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล โดยร่วมกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม 7 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เนปาล อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย 

 นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการจัดประชุมครั้งนี้ขึ้น โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 9 ประเทศ คือ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ อิตาลี นอร์เวย์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความเข้าใจของเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล เพื่อทำแผนที่และตรวจติดตามความเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการวางแผนติดตาม ตรวจสอบว่ามีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงไหนบ้าง ผ่านเข้ามาเก็บข้อมูล ณ บริเวณที่สนใจหรือทำการตรวจติดตามอยู่ เพื่อใช้ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับครั้งนี้ได้ใช้พื้นที่มนุษย์และชีวมณฑล แม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ ในการทดลองสาธิตเทคโนโลยีดัง ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโลกของสิ่งมีชีวิตหรือชีวมณฑล ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ที่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในป่าเอเชียที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนโดยยูเสด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบทิศทาง ตามกลไกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอัน และสำรวจสถานะของป่าไม้ในการเก็บกักคาร์บอนด์ หรือเรียกว่า ภายในภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:16:26


ความคิดเห็นที่ 4 (3315818)

Review: TOT IPTV (MeTV) แอนดรอยด์ไอพีทีวีที่เหมาะกับสโลแกน “More than just TV”

       ด้วยความเร็วอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเติบโตตามไปด้วย และ IPTV หรือบริการทีวีออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television) ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีสตรีมมิ่งวิดีโอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน
      
       มาวันนี้ทีโอทีก็นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาปรับระบบ IPTV ใหม่เพื่อตอบสนองผู้ใช้ที่อยากรับชมรายการทีวีแบบจานดาวเทียมแต่ไม่อยากติดจานเพราะเงื่อนไขต่างๆ โดยกล่อง TOT IPTV หรือ Set top Box MeTV รุ่นนี้จะทำหน้าที่คล้ายกล่อง Set top Box ที่มากับจานดาวเทียมแบรนด์ต่างๆ โดยผู้อ่านสามารถรับชมรายการทั้งจากช่องฟรีทีวีหรือช่องพิเศษตามแพกเกจที่สมัครได้ เพียงแต่ข้อแตกต่างจากกล่องที่มากับจานดาวเทียมก็คือ TOT IPTV ใช้อินเตอร์เน็ตบ้านทั่วไปในการดึงคอนเทนต์จากระบบกลาง ในขณะที่กล่อง Set top Box ทั่วไปต้องใช้สัญญาณจากดาวเทียม
      
       เพราะฉะนั้นผู้ใช้กล่อง TOT IPTV (MeTV) จึงไม่ต้องกลัวเรื่องสภาพอากาศที่มีผลให้สัญญาณภาพติดๆ ขัดๆ รวมถึงความสามารถในการหยุดชั่วคราว (PAUSE) รายการสดที่กำลังรับชมอยู่ได้และเล่นต่อได้ตามต้องการ แถมบริการ IPTV จากทีโอทียังสามารถใช้งานบนพีซี สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ผ่านระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของทีโอทีอีกด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:18:55


ความคิดเห็นที่ 5 (3315819)

กสทช.จัดประชุมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องร่างประกาศดาวเทียม

 

กสทช. จัดประชุมกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (Focus Group) ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสารวันที่ 31 ม.ค.นี้
      
       รายงานข่าวจากกสทช.ระบุว่าคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสารที่มีนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ เป็นประธาน ได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (Focus Group) ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ในวันที่ 31 ม.ค.57 เวลา 09.00 - 16.00 น. ที่ห้องประชุมฟอร์จูน ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
      
       ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าว จะประกอบไปด้วยเรื่องหลักๆ อาทิ การกำหนดใบอนุญาต ซึ่งแบ่งเป็น 3แบบ ดังนี้ 1.ใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับให้บริการขายต่อบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ไม่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นของตัวเอง 2.ใบอนุญาตแบบที่สอง ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่มีหรือไม่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นของตนเอง และ3.ใบอนุญาตแบบที่สาม ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมที่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาว เทียมเป็นของตนเอง
      
       ส่วนการกำหนดระยะเวลาที่ให้ใบอนุญาต แบบที่หนึ่ง และแบบที่สอง จะมีระยะเวลาที่อนุญาตให้ประกอบกิจการตามประกาศไว้ในข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง และแบบที่สอง ส่วนใบอนุญาตแบบที่สาม มีระยะเวลาที่อนุญาตประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยคณะกรรมการอาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงกรอบระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงที่อนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสารได้
      
       นอกจากนี้ยังมีหมวดหมู่อื่นๆ ในร่างประกาศดังกล่าว อาทิ คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต,วิธีการพิจารณาใบอนุญาต,หลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต,การขอต่อใบอนุญาต และการจัดสรรคลื่นความถี่
      
       ด้านพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ คือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่มีการใช้งานดาวเทียมไทยคม 1 ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก,ไทยคม2 ตำแหน่งวงโคจร 120องศาตะวันออก ,ไทยคม 3 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ดาวเทียมไทยคม 4 ตำแหน่งวงโครจร 119.5 องศาตะวันออก ที่ยังคงให้บริการอยู่โดยเน้นการให้บริการด้านบรอดคาสติ้ง ส่วนดาวเทียมไทยคม 5 ตำแหน่งวงโครจร 78.5 องศาตะวันออก ให้บริการแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่เสียไป
      
       ส่วนดาวเทียมไทยคม 6 ตำแหน่งวงโครจร 78.5 องศาตะวันออก ที่ทำการยิงไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค.57 เป็นดาวเทียมดวงแรกที่อยู่ในระบบใบอนุญาต โดยกทค.เตรียมที่จะอนุญาตให้ดาวเทียมไทยคม 7 ตำแหน่งวงโครจร 120 องศาตะวันออก ที่ บริษัท ไทยคม จะทำการยิงในปลายปี 2557 ก็เป็นระบบใบอนุญาต ส่วนดาวเทียมไทยคม 8 ตำแหน่งวงโครจร 78.5 องศาตะวันออก ที่จะทำการยิงในช่วงปี 2558 จะเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งคาดว่าจะใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ที่ช่องสัญญาณการให้บริการเต็มแล้ว
      
       สำหรับร่างประกาศ ดังกล่าว ได้มีมติเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2556 แต่ยังไม่ได้มีมติเห็นชอบจากบอร์ด กทค.แต่อย่างไร ซึ่งคณะอนุกรรมการ จึงต้องดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม เพื่อเร่งออกร่างประกาศดังกล่าว เนื่องจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอเพิ่มบริการดาวเทียมในใบอนุญาตประเภทที่ 3 สำหรับการประกอบกิจการดาวเทียมเพื่อให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมที่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นของตนเองซึ่งเป็นการประกอบกิจการแก่บุคคลทั่วไป จำนวนมากผ่านผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม เพื่อใช้สำหรับการยิงดาวเทียมไทยคม 8 ในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก
      
       สำหรับใบอนุญาตประเภทที่ 3 ตามที่ไทยคมร้องขอมานั้น มีระยะเวลาอนุญาตประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ กทค.อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงกรอบระยะเวลาขั้นต่ำ และขั้นสูงที่อนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสารได้ ส่วนการจัดหาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมนั้น ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนต่างๆ ตามที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำหนด โดยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่ตั้งในวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย ผู้ขอรับใบอนุญาตแบบที่ 3 จะต้องยินยอมให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งช่องสัญญาณดาวเทียม ได้ตลอดอายุใบอนุญาต เพื่อใช้งานด้านความมั่นคง และประโยชน์สาธารณะตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ สำหรับรายละเอียดทางเทคนิคจำนวนช่องสัญญาณดาวเทียมย่านความถี่ ค่าใช้จ่ายการเช่าใช้ และอื่นๆให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน
      
       อย่างไรก็ตาม ผู้ขอรับใบอนุญาตแบบที่ 3 หากมีความต้องการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ภายในประเทศ เพื่อใช้ในกิจการวิทยุคมนาคมสำหรับกิจการควบคุมดาวเทียมสื่อสาร ผู้นั้นจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และจะต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว โดยมีรายงานข่าวระบุว่า การออกร่างประกาศกิจการดาวเทียมสื่อสาร เพื่อต้องการรองรับการเปลี่ยนผ่านจากทีวีในระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอล ที่ได้เปิดประมูลใน 24 ช่องธุรกิจ เมื่อปลายปี 2556

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:23:08


ความคิดเห็นที่ 6 (3315820)

กสทช.เดินเครื่องโฟกัสกรุ๊ป เร่งออกร่างประกาศฯ กิจการดาวเทียมสื่อสาร ปูทางออกใบอนุญาต "ไทยคม" ยิงดาวเทียมดวง 8 ในปี 58

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ที่มีนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมสัมมนากลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (โฟกัส กรุ๊ป) ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ในวันนี้ (31 ม.ค.)

ร่างประกาศฯ ดังกล่าวประกอบด้วยเรื่องหลักๆ เช่น การกำหนดใบอนุญาต แบ่งเป็น 3 แบบ 1.ใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง สำหรับให้บริการขายต่อบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ไม่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นของตัวเอง 2.ใบอนุญาตแบบที่สอง สำหรับให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่มีหรือไม่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นของตนเอง 3.ใบอนุญาตแบบที่สาม สำหรับให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมที่มีโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นของตนเอง

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการผ่านดาวเทียมสื่อสาร ได้แก่ บมจ.ไทยคม ใช้งานดาวเทียมไทยคม 1 ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก,ไทยคม 2 ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก ,ไทยคม 3 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ซึ่งทั้ง 3 ดาวเทียม เป็นระบบสัมปทานซึ่งสิ้นสุดแล้ว

ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 ไทยคม 6 ดวงล่าสุด ยังอยู่ในระบบสัมปทานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) แต่ขณะนี้ กทค.เตรียมอนุญาตให้ดาวเทียมไทยคม 7 ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก ที่จะยิงปลายปี 2557 เป็นระบบใบอนุญาตดวงแรก

รวมถึง ดาวเทียมไทยคม 8 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ที่จะยิงช่วงปี 2558 เป็นระบบใบอนุญาต คาดว่าจะทดแทนไทยคม 5 ที่ช่องสัญญาณให้บริการเต็ม

ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ ดังกล่าว มีมติเห็นชอบจากคณะอนุฯ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2556 แต่บอร์ดยังไม่ได้มีมติเห็นชอบ คณะอนุฯ จึงต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม เพื่อเร่งออกร่างประกาศฯ ดังกล่าว เนื่องจากไทยคมได้ยื่นขอเพิ่มบริการดาวเทียมในใบอนุญาตประเภท 3 เพื่อใช้สำหรับยิงดาวเทียม 8 ในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกแล้ว

ใบอนุญาตประเภทที่ 3 ตามที่ไทยคมร้องขอ มีระยะเวลาที่อนุญาตประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 20 ปี ส่วนการหาตำแหน่งที่ตั้งวงโคจรดาวเทียม ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำหนด โดยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ ทั้งต้องยินยอมให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งช่องสัญญาณได้ตลอดอายุใบอนุญาต เพื่อใช้งานด้านความมั่นคง และประโยชน์สาธารณะตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

นอกจากนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตแบบที่ 3 หากต้องการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ภายในประเทศ เพื่อใช้ในกิจการวิทยุคมนาคมสำหรับกิจการควบคุมดาวเทียมสื่อสารจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:30:17


ความคิดเห็นที่ 7 (3315821)

ไทยคมส่งมอบดาวเทียมไทยคม 6 ให้กระทรวงไอซีทีดาวเทียมไทยคม 6 ไทยคม ผู้นำธุรกิจดาวเทียมไทย พร้อมให้บริการด้านบรอดคาสต์บนดาวเทียมไทยคม 6 อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 57 หลังดำเนินการทดสอบคุณภาพสัญญาณเสร็จสมบูรณ์ และส่งมอบดาวเทียมไทยคม 6 ให้เป็นทรัพย์สินของกระทรวงไอซีทีแล้ว

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม เปิดเผยว่า หลังประสบความสำเร็จในการจัดส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่วงโคจร รวมถึงได้ทำการทดสอบคุณภาพและโอนย้ายช่องสัญญาณ และที่สำคัญคือได้ส่งมอบดาวเทียมไทยคม 6 ให้เป็นทรัพย์สินของกระทรวงไอซีทีเรียบร้อยแล้ว ไทยคมได้เริ่มให้บริการสัญญาณดาวเทียมเพื่อบรอดคาสต์อย่างเต็มรูปแบบผ่านโครงข่ายดาวเทียมคุณภาพสูงของไทยคม 6 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันไทยคมได้นำดาวเทียมไทยขึ้นสู่วงโคจรและส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินของประเทศแล้วจำนวน 6 ดวง โดยดาวเทียมไทยคม 6 เป็นดวงล่าสุด

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม เมื่อไทยคมได้ลงทุนโครงการสร้างและจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้วก็จะต้องส่งมอบดาวเทียมให้เป็นทรัพย์สินของประเทศ ก่อนที่จะให้บริการ และนำส่วนแบ่งรายได้ส่งมอบแก่รัฐบาลตามอัตราที่กำหนด
ดาวเทียมไทยคม 6 เป็นดาวเทียมขนาดกลางรุ่น Star 2.3 จัดสร้างโดย บริษัท ออบิทอล ไซเอนซ์ส คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา มีจำนวนช่องสัญญาณทั้งสิ้น 33 ทรานสปอนเดอร์ โดยแบ่งเป็นช่องสัญญาณซี-แบนด์ จำนวน 24 ทรานสปอนเดอร์ และช่องสัญญาณเคยู-แบนด์ จำนวน 9 ทรานสปอนเดอร์

“ดาวเทียมไทยคม 6 จะช่วยรองรับการเปิดปรากฏการณ์ใหม่ของโลกดิจิตอลในการรับชมสัญญาณภาพ และเสียงทั้งในระบบ SD และ HD ที่คมชัดมากยิ่งขึ้น และยังเป็นดาวเทียมที่ทำให้ไทยคมสามารถให้บริการครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่บริษัทมุ่งขยายการให้บริการต่อเนื่องอย่างครบวงจร โดยดาวเทียมไทยคม 6 จะเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจบรอดคาสต์และมาตรฐานการรับชมรายการโทรทัศน์ของไทย ทีมงานของไทยคมเองถือเป็นภารกิจสำคัญและมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างปรากฏการณ์ไทยคม 6 ดาวเทียมดวงใหม่นี้ เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและโครงข่ายดาวเทียมที่เป็นของประเทศไทย”

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2014-02-06 19:32:41



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.