ReadyPlanet.com


ข่าวจานดาวเทียม,ข่าวดาวเทียม 12 june2013


ทีวีดาวเทียมแห่ชิงทีวีดิจิทัล ชิงเค้กแสนล้าน
 
จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมสื่อไทยยุคทีวี 800 ช่อง ชี้ "ทีวีดิจิทัล" เปิดโอกาสผู้เล่นหน้าใหม่ ด้านทีวีดาวเทียมแห่ชิงช่อง หวังชิงงบโฆษณาแสนล้าน

สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีแห่งเอเชีย (Cable & Satellite Broadcasting Association of Asia) หรือ Casbaa จัดสัมมนา Thailand in View ในธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมปี 2556 และการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อในยุคดิจิทัล วานนี้ (30 พ.ค.)

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตของฐานผู้ชมเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 64% แต่การใช้งบโฆษณาผ่านเคเบิลและทีวีดาวเทียมอยู่ที่ 13% ของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา เห็นได้ว่าสัดส่วนงบโฆษณาต่ำกว่าฐานผู้ชมถึง 3 เท่า ขณะที่ ฟรีทีวี อนาล็อกในปัจจุบันยังครองส่วนแบ่งงบเกือบ 60% ของงบโฆษณาระดับแสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสื่อไทยจะถึงจุดเปลี่ยน หลังการจัดสรรคลื่นความถี่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวม 48 ช่อง ในจำนวนดังกล่าวเป็นช่องประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ที่จะดำเนินการประมูลช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. นี้

"การจัดสรรทีวีดิจิทัล 24 ช่องประเภทธุรกิจ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้เล่นหน้าใหม่ นอกจากฟรีทีวีปัจจุบัน และทำให้เกิดสนามการแข่งขันที่เท่าเทียม ระหว่างฟรีทีวี อนาล็อก และผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายใหม่ อีกทั้งการเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศของทีวีดิจิทัล จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรงบโฆษณาผ่านสื่อทีวี ที่จะกระจายไปยังทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น.

ดาวเทียมชิงทีวีดิจิทัล-ทรูฯ เปิดแผนชิง 3 ช่อง

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นฯ ทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง เชื่อว่าผู้เข้าประมูลจะอยู่ในกลุ่มฟรีทีวีเดิม และเจ้าของช่อง ทีวีดาวเทียมในปัจจุบัน ที่มีเป้าหมายอัพเกรดแพลตฟอร์มจากทีวีดาวเทียม ไปยังแพลตฟอร์มหลักในการรับชมของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ

"ในฐานะคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของช่องทีวีดาวเทียมในปัจจุบัน เรามีความพร้อมในการเข้าประมูล และมีความถนัดด้านคอนเทนท์บันเทิง"นางพรพรรณ กล่าว

นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นฯ ทีวีดิจิทัล และการประมูลช่องรายการประเภทธุรกิจใหม่ 24 ช่อง ที่จะมีฐานะเป็น ฟรีทีวีดิจิทัล เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศใน 5 ปี ภายใต้แผนขยายโครงข่าย (Mux) ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้

เชื่อว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล เป็นโอกาสของคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ที่จะเข้าประมูลเป็นเจ้าของช่องฟรีทีวีดิจิทัล โดย ทรูฯ มีแผนที่จะประมูลทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่องเอชดี, วาไรตี้ SD และ ช่องเด็ก SD สำหรับช่องเอชดี และเด็ก จะพัฒนาคอนเทนท์ และช่องรายการใหม่ ส่วนช่องวาไรตี้ วางแผนจะนำช่อง ทีเอ็นเอ็น ซึ่งเป็นสถานีข่าวในปัจจุบันไปออกอากาศ เนื่องจาก กสทช.มีกฎห้ามผู้ประมูลช่องเอชดี ประมูลช่องข่าว

"ภายใต้แผนขยายโครงข่าย และการสนับสนุนคูปองครัวเรือนไทยทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนทีวีอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล เชื่อว่าไทยจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วภายใน 3 ปี ขณะที่ต่างประเทศต้องใช้เวลานับ 10 ปี"นายสมพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจุดเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อ จากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นงบโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ให้เติบโต หรือมีมูลค่าระดับแสนล้านบาท เนื่องจากจะเป็นแพลตฟอร์ม ฟรีทีวีดิจิทัลที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งกฎ มัสต์ แคร์รี่ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเข้าถึงทีวีดิจิทัลในทุกแพลตฟอร์ม และช่วยสร้างฐานผู้ชมอย่างรวดเร็ว กระตุ้นความสนใจให้ผู้ลงโฆษณาในงบประมาณผ่านสื่อดังกล่าว

ยุคสมรภูมิทีวี 800 ช่อง

นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสื่อไทยมีการขยายตัวของกลุ่มช่องรายการในแพลตฟอร์มเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ประกอบด้วยทีวีดาวเทียม รูปแบบฟรีทูแอร์ 388 ช่อง, เพย์ทีวี ทรูวิชั่นส์ กว่า 140 ช่อง, เคเบิลทีวีท้องถิ่น 213 ช่อง, ซีทีเอช 120 ช่อง และที่กำลังจะจัดสรรใบอนุญาตใหม่ในปีนี้ คือ ทีวีดิจิทัล 48 ช่อง

"การขยายตัวของช่องรายการผ่านทุกแพลตฟอร์ม คาดว่าปีหน้า อุตสาหกรรมสื่อไทย จะก้าวสู่สังคมทีวี 800 ช่อง"นายนิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ การประมูลทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง แบ่งเป็นช่องเอชดี 7 ช่อง ราคาตั้งต้นช่องละ 1,510 ล้านบาท คาดว่าราคาประมูลจะอยู่ที่ช่องละ 2,000 ล้านบาท, ช่องวาไรตี้ SD ราคาตั้งต้นช่องละ 380 ล้านบาท คาดราคาประมูลอยู่ที่ 500 ล้านบาท, ช่องข่าว SD ราคาตั้งต้นช่องละ 220 ล้านบาท คาดราคาประมูลอยู่ที่ 300 ล้านบาท และช่องเด็ก SD ราคาตั้งต้นช่องละ 140 ล้านบาท คาดราคาประมูลอยู่ที่ 145 ล้านบาท

โฆษณาเคเบิล-ทีวีดาวเทียมโต 26%

จำนวนครัวเรือนไทยทั่วประเทศที่ 22 ล้านครัวเรือนในปัจจุบัน หรือ 64.6 ล้านคน รับชมสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อก แบ่งเป็นพื้นที่ กรุงเทพฯ จำนวน 9.7 ล้านคน หรือ 15% ของจำนวนประชากร, พื้นที่ในเขตเมือง 14.2 ล้านคน หรือ 22.1% และพื้นที่ชนบท 40.7 ล้านคน หรือ 62.9%

นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ แผนกมีเดีย ลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์มการรับชมผ่านเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 64% แบ่งเป็นทรูวิชั่นส์ 2 ล้านราย, เคเบิลท้องถิ่น 2.4 ล้านราย และจานรับสัญญาณดาวเทียม 7.5 ล้านราย และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในปีนี้

โดยพบว่ารูปแบบการรับชมช่องรายการผ่าน 3 แพลตฟอร์มหลัก ผู้ชมเลือกดูช่องฟรีทีวี อนาล็อกเป็นสัดส่วนหลัก โดยในแพลตฟอร์มทรูวิชั่นส์ แบ่งเป็นการดูฟรีทีวี 57.3% ดูทรูวิชั่นส์ 42.7% ส่วนแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีท้องถิ่น ดูฟรีทีวี 57.4% ดูช่องเคเบิลทีวี 42.6% ขณะที่แพลตฟอร์มจานดาวเทียม ดูฟรีทีวี 64.6% ดูทีวีดาวเทียม 25.4%

ทั้งนี้ ผู้ชมไทยมีอัตราการรับชมทีวีผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบด้วย ทรูวิชั่นส์ 149 นาที/วัน , ช่องเคเบิลทีวีท้องถิ่น 139 นาที/วัน และทีวีดาวเทียม 105 นาที/วัน

จากพฤติกรรมการรับชมช่องรายการผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว พบว่าช่องฟรีทีวี รวมทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เป็นแพลตฟอร์มหลักในการรับชมของครัวเรือนไทย ส่งผลให้การใช้งบโฆษณาผ่านฟรีทีวีในปีนี้มีโอกาสเติบโตที่ 14.4% หรือมีมูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับการใช้งบโฆษณาผ่านเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมปีนี้ที่คาดเติบโต 26.6% หรือมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งการเติบโตของแพลตฟอร์มและพฤติกรรมของผู้ชมช่องรายการในไทย เชื่อว่า ฟรีทีวี เพย์ทีวี และทีวีดาวเทียม ยังเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ยังเติบโตในปีนี้ เนื่องด้วยฐานผู้ชมกว่า 50% ยังรับชมช่องรายการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

"อาจพูดได้ว่า Content is King และ การรับชมช่องรายการที่คมชัด ผ่านแพลตฟอร์มเคเบิลและทีวีดาวเทียม ที่ชัดกว่าเสาก้างปลาระบบอนาล็อก คือ Queen และการเกิดขึ้นของ ทีวีดิจิทัล จะเป็นจุดเปลี่ยน และความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมสื่อไทย" นายสินธุ์ กล่าว



ผู้ตั้งกระทู้ ช.การไฟฟ้า :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-14 11:56:47


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3311439)

คาดใน4ปีโฆษณาทีวีแสนล้าน ปีหน้าทะลุ782ช่อง


ASTVผู้จัดการรายวัน - เวทีคาสบา ชี้จุดเปลี่ยนวงการทีวีไทย ดิจิตอลทีวีมาแรง ส่งปี57 มีช่องรายการร่วม 782 ช่องรวมในทุกแพลทฟอร์ม ดันเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีทะลุ 1 แสนล้านบาทใน 4 ปีข้างหน้า นักโฆษณาต้องทำงานหนักมากขึ้นสู้เทคโนโลยีเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลาย ส่วนเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมสิ้นปีลุ้นโฆษณา 1.2 หมื่นล้านบาท

วานนี้ (30 พ.ค.) สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ คาสบา (CASBAA) ได้จัดงานสัมมนาขึ้น ในชื่องาน การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล (Thailand in View : Changing the Digital Landscape) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้หลายราย ในหลายหัวข้อ
ทีวีดิจิตอลศึกใหญ่แข่งดุ เม็ดเงินโฆษณาพุ่ง
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวในหัวข้อ The Neighborhood is Getting Crowded - Digital Terrestrial Licensing and its effects on the CabSat Ecosystem ว่า จากการเปลี่ยนแปลงของทีวีดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา ยอดขายของกลุ่มทีวีตกลงถึง 30% ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจและไม่แน่ใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จึงมีการชะลอการซื้อโทรทัศน์ออกไปก่อน เพราะกลัวว่าถ้าซื้อมาแล้วจะรับสัญญาณระบบดิจิตอลได้หรือไม่

ด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การเข้าสู่ทีวีดิจิตอลของไทย จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของแต่ละช่อง และสิ่งที่ได้มาในที่สุดคือเรื่องของคุณภาพรายการและการแพร่ภาพ ดังนั้นการเตรียมตัวของเจ้าของช่องรายการทางเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม คือ คอนเท้นท์ที่มีความเข้มข้นของเนื้อหา และความหลากหลายของรายการอันจะนำไปสู่การจัดช่วงไพร์มไทม์ของแต่ละช่องที่สามารถทำได้แตกต่างกันไป เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงไพร์มไทม์ของทางฟรีทีวี

สอดคล้องกับคำกล่าวของ นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ที่กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาในการดูโทรทัศน์วันละ 5 ช.ม. เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 3 ช.ม. โดยกว่า 2-3 ช.ม.นั้นจะเป็นการดูรายการละครช่วงไพร์มไทม์จากทางฟรีทีวี รวมถึงละครจากเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมในช่วงเวลาไพร์มไทม์ของช่องรายการนั้นๆ ดังนั้นจึงเชื่อว่า เม็ดเงินโฆษณาบนแพลทฟอร์มเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะแปรผันตามเรตติ้งรายการ และการเข้าถึงผู้ชมที่มากขึ้น

นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการมีทีวีดิจิตอลเข้ามาในอุตสาหกรรมทีวี มองว่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีจาก 60,000-70,000 ล้านบาท จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในฟรีทีวีจะถูกกระจายไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ และยิ่งเข้าสู่ ประคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี มั่นใจว่า งบโฆษณาในสื่อทีวีจะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาทได้แน่นอน

เทคโนโลยีเปลี่ยน โฆษณาต้องปรับตัว
นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย และประธานบริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส กล่าวเสริมในหัวข้อ It’s about the Money, Money, Money - Advertising on CabSat TV in Thailand ว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อทีวีที่คาดว่าจะสูงถึง100,000 ล้านบาทนั้น มีความเป็นไปได้สูงมาก และจะเห็นได้ภายใน 4ปีข้างหน้า หากงบโฆษณาในสื่อทีวีเติบโตปีละ 10% ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในสื่อเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะเติบโตขึ้นด้วยตัวเองไม่มีการแย่งมาจากสื่ออื่น โดยต้องขึ้นอยู่กับการเข้าถึงผู้บริโภคและรูปแบบรายการที่มีคุณภาพด้วย ส่วนเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีจะยังคงสัดส่วนที่ 54% ของงบโฆษณารวม

นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ มีเดียลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทนีลเส็น ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคเข้าถึงการรับชมได้หลายช่องทางและหลายแพลทฟอร์ม ในส่วนของธุรกิจโฆษณาถือเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมาก เพราะต้องคิดหาช่องทางการโฆษณาให้เข้าถึงผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ดูมากหรือเจาะจงจนเกินไป และให้ความรู้สึกของโฆษณาที่เข้าถึงมิติของอารมณ์ผู้ชมได้ดียิ่งขึ้น

นีลเส็นชี้ปีนี้โฆษณาบนเคเบิลทีวีทะลุ 1.2 หมื่นล.
นอกจากนี้นายสินธุ์ ยังได้กล่าวในหัวข้อ Thai Pay TV Market Overview ว่า ปัจจุบันจำนวนครัวเรือนไทยทั่วประเทศอยู่ที่ 22 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 64.6 ล้านคน โดยสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อก ถือเป็นสื่อหลักที่ผู้ชมไทยเข้าถึงและรับชม แบ่งเป็นกรุงเทพฯ จำนวน 9.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจำนวนประชากร และพื้นที่ในเขตเมือง จำนวน 14.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 22.1%ของจำนวนประชากร และพื้นที่ชนบท จำนวน 40.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 62.9% ของจำนวนประชากร

โดยในปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์มการรับชมผ่านเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศกว่า 64% แบ่งเป็นทรูวิชั่นส์ 2 ล้านราย และเคเบิลท้องถิ่น 2.4 ล้านราย และจานรับสัญญาณดาวเทียม 7.5ล้านราย และยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าผู้ชมเลือกดูช่องฟรีทีวีอนาล็อกเป็นสัดส่วนหลักในแพลตฟอร์มทรูวิชั่นส์ แบ่งเป็นการดูฟรีทีวี 57.3% ดูทรูวิชั่นส์ 42.7% ส่วนแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีท้องถิ่น ดูฟรีทีวี 57.4% ดูช่องเคเบิลทีวี 42.6%

ขณะที่แพลตฟอร์มจานดาวเทียม ดูฟรีทีวี 64.6% ดูทีวีดาวเทียม 25.4% และยังพบอีกว่าผู้ชมไทยมีอัตราการรับชมทีวีผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบด้วย 1.ทรูวิชั่นส์ 149 นาที/วัน 2.ช่องเคเบิลทีวีท้องถิ่น 139 นาที/วัน และ3.ทีวีดาวเทียม105 นาที/วัน ส่งผลให้การใช้งบโฆษณาผ่านฟรีทีวีในปีนี้มีโอกาสเติบโตที่ 14.4% หรือมีมูลค่า 77,000ล้านบาท เช่นเดียวกับการมใช้งบโฆษณาผ่านเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมปีนี้ที่คาดเติบโต 26.6% หรือมูลค่า 12,000 ล้านบาท

นายสินธุ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในปี 2557 เชื่อว่าประเทศไทยจะมีจำนวนช่องรายการโทรทัศน์ในทุกแพลทฟอร์มรวมกันไม่ต่ำกว่า 782 ช่อง เช่น 1.กลุ่มช่องรายการจากทีวีดิจิตอลและฟรีทีวีภาคพื้นดินรวม 30 ช่อง 2. Terrestrial Business TV รวม 30 ช่อง 3. Terrestrial Service TV 18 ช่อง และ4.ทีวีดาวเทียมรวม 388 ช่อง เป็นต้น


 

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2013-06-14 12:03:33


ความคิดเห็นที่ 2 (3311440)

อีกแล้ว! "ลีน่า จัง" ลากมีดยาว ด่ากราดตำรวจบุกร้าน-สถานีทีวีดาวเทียม

เป็นประเด็นขึ้นมาอีกแล้ว สำหรับ   นักจัดรายการชื่อดัง เจ้าของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ฮอต ทีวี อย่าง "ลีน่า จังจรรจา "  ซึ่งคราวนี้ หาใช่เป็นกระแส ที่เธอจัดรายการทีวี พาดพิง ต่อว่าใคร  ผู้ไหน  แต่เป็นคลิปวิดีโอ ที่มีผู้โพสต์ลงบนเว็บไซต์ ยูทูบ ระบุว่า  "ลีน่าจัง โดนตำรวจบุกสถานี"  ที่มีการอัพโหลดไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  ซึ่งมีความยาวถึง 03.51 นาที

สำหรับภาพเหตุการณ์ในคลิป เป็นเหตุการณ์ที่  "ลีน่า จัง" ซึ่งอยู่ในชุดกระโปรงยาวสีฟ้า เสื้อแขนสั้นสีม่วงดำ  ปล่อยผมยาวสยาย  เดินถือมีดขนาดยาวเดินออกจากร้านจำหน่ายเครื่องสำอางของตนเอง ที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าอินทราสแควร์ ประตูน้ำ เลขที่ 120/111-112 ถ.ราชปรารภ แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ   ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่ ออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ฯ  มายืนต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย อย่างรุนแรง หลังมีการนำหมายศาลเข้ามาตรวจค้น โดยใช้วิธีพังกุญแจเพื่อบุกเข้าไปด้านใน ทำให้กุญแจร้านได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้   ลีน่า  จัง ได้ต่อว่า ตำรวจ ที่ไม่โทรศัพท์มาบอกล่วงหน้า หรือคุยกันดีๆ ก่อน เพราะก่อนหน้านี้ ร้านของตนถูกขว้างปลาร้าใส่ ตำรวจก็ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ แต่พอตนวิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  กลับมีคนมากลั่นแกล้ง

อย่างไรก็ตาม  ภาพเหตุการณ์ในคลิป ยังฉายอีกว่า  ตำรวจทั้ง 2 นาย  ได้พยายามเกลี้ยกล่อม ลีน่า จัง  พร้อมระบุ จะซื้อแม่กุญแจมาคืนให้   และอ้างว่า   มาตรวจเครื่องสำอางค์กับเจ้าหน้าที่อย. ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างที่ถูกต่อว่า   ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ติดต่อ ลีน่าไม่ได้เนื่องจากปิดเครื่อ ง ซึ่งลีน่า ก็ตอบว่ากำลังจัดรายการสดอยู่ และท้าให้ไปออกอากาศพร้อมกัน

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2013-06-14 12:06:39


ความคิดเห็นที่ 3 (3311441)

กสท.ยืดเวลาทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี เข้ามาขอไลเซนส์ได้ถึง 30 มิ.ย.นี้

กสท.ขยายเวลาให้ผู้ประกอบการช่องรายการทีวีดาวเทียม และ เคเบิลทีวียื่นขอรับใบอนุญาตได้จนถึง 30 มิ.ย.นี้ หลังเหลืออีก 233 ช่องรายการอยู่ระหว่างการพิจารณาด้านเอกสาร ด้าน “พ.อ.นที” ลั่นหากไม่มีใบอนุญาตแต่ฝืนออกอากาศโทษหนักจำคุก 5 ปี รับไม่เกิน 5 ล้านบาท

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สท.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.มีมติขยายเวลาในการเปิดรับคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการสำหรับธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ออกไปจนถึง 30 มิ.ย.นี้เนื่องจากไม่สามารถพิจารณาได้ทันเวลา ซึ่งการขอใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 จากเดิมที่ก่อนหน้านี้บอร์ด กสท.มีมติให้ผู้ประกอบการต้องเข้ามายื่นคำขอรับใบอนุญาตประเภทดังกล่าวภายในวันที่ 30 พ.ค. 2556

ก่อนหน้านี้มีช่องรายการทั้งทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีจำนวน 506 ช่องรายการได้รับใบอนุญาตไปแล้ว และยังเหลืออีกจำนวน 233 ช่องรายการอยู่ระหว่างการพิจารณาเนื่องจากติดปัญหาเรื่องเอกสารต่างๆ ทั้งนี้ หลังครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย.แล้ว ภายใน 15 วัน กสท.จะส่งรายชื่อช่องรายการทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ทั้งหมดไปให้ผู้ประกอบกิจการโครงข่ายที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ทุกประเภทเพื่อสามารถดำเนินการออกอากาศ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการโครงข่ายที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ระดับชาติ 10 โครงข่าย และระดับท้องถิ่นอีก 400 โครงข่าย

“ทั้งนี้ กสท.จะสั่งผู้ประกอบกิจการโครงข่ายที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ทุกรายห้ามเผยแพร่ช่องรายการจำนวน 233 ช่องข้างต้นออกอากาศจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากทาง กสท.”

พ.อ.นทีกล่าวย้ำว่า หากผู้ประกอบการช่องรายการที่ไม่ได้รับอนุญาตแต่ดำเนินการออกอากาศจะมีโทษจำคุก 5 ปี หรือสั่งปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากไม่หยุดออกอากาศจะสั่งปรับอีกวันละ 5 หมื่นบาท ส่วนผู้ประกอบกิจการโครงข่ายที่ไม่ใช่คลื่นความถี่มีโทษตั้งแต่ส่งหนังสือเตือน และสั่งปรับ ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2013-06-14 12:10:01


ความคิดเห็นที่ 4 (3311442)

กสท.จ่อแบน200ช่องทีวีดาวเทียม-เคเบิล


บอร์ด กสท.อนุมัติใบอนุญาตช่องทีวีดาวเทียม-เคเบิล 506 ช่อง ส่งต่อ "โครงข่าย" กิจการไม่ใช้คลื่นฯ "กล่อง-เคเบิล" ออกอากาศ ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กสท. วานนี้ (3 มิ.ย.) เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายชื่อ ช่องรายการ ในกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ หรือช่องทีวีดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช.รวม 506 ช่อง ไปยังผู้ให้บริการโครงข่ายในกิจการไม่ใช้คลื่นฯ หรือ แพลตฟอร์มกล่องรับสัญญาณ และผู้ประกอบการเคเบิลทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงข่ายระดับชาติ 10 ราย และระดับท้องถิ่น 400 ราย นำไปออกอากาศ คาดหนังสือจะถึงผู้ประกอบการโครงข่ายภายใน 15 วันนับจากนี้


หลังจากได้รับรายชื่อ 506 ช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีแล้ว ผู้ประกอบการโครงข่ายจะต้องออกอากาศเฉพาะช่องรายการที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น หากมีการแพร่ภาพช่องที่ไม่ได้รับใบอนุญาต โครงข่ายจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะมีโทษทางปกครองและอาญา ตั้งแต่ตักเตือน เพิกถอนใบอนุญาต สั่งปรับสูงสุด 5 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 5 ปี


ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณาให้ใบอนุญาตช่องรายการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่ได้ยื่นเอกสารขออนุญาตมายัง กสทช. และยังไม่ได้รับใบอนุญาตมีอีก 233 ราย เนื่องจากยังไม่มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน กสทช.ขอไป เช่น แผนธุรกิจ โดยสำนักงานได้ขอขยายเวลาพิจารณาใบอนุญาตอีก 30 วัน หรือภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้


"ระหว่างที่ สำนักงาน กสทช. กำลังพิจารณาใบอนุญาตอีก 233 ช่องรายการที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ห้ามโครงข่ายแพร่ภาพช่องรายการดังกล่าว และหากช่องรายการใดได้รับใบอนุญาตแล้ว สำนักงาน กสทช. จะส่งรายชื่อช่องรายการไปให้โครงข่ายนำไปออกอากาศเพิ่มเติมในภายหลัง"


พ.อ.นที กล่าวว่า พร้อมกันนี้เมื่อโครงข่ายได้รับรายชื่อช่องรายการที่ได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงาน กสทช.แล้ว จะต้องแพร่ภาพเฉพาะช่องรายการดังกล่าวเท่านั้น รวมทั้ง ห้ามแพร่ภาพช่องรายการจากต่างประเทศ ที่ได้รับสัญญาณภาพจากดาวเทียมดวงต่างๆ ซึ่งไม่ได้ขอใบอนุญาตจาก กสทช. ด้วยเช่นกัน โดยแพลตฟอร์มกล่องและเคเบิล สามารถเข้ารหัส OTA เพื่อล็อกสัญญาณช่องรายการได้


สำหรับแผนการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในประเทศไทยเป็นคลื่นฯ ที่ใช้ประโยชน์ในกิจการวิทยุโทรทัศน์ แม้ว่าในต่างประเทศจะนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้ประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคม แต่สำหรับประเทศไทยแผนการบริหารคลื่น ตามแนวทาง Digital Dividend หรือการใช้ประโยชน์คลื่น หลังการเปลี่ยนสู่ทีวีดิจิทัลในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องรอให้ยุติระบบอนาล็อก (Analog Switch-Off), การเรียกคืนคลื่นฯ ย่าน 470-590 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันใช้ในกิจการโทรคมฯ มาจัดสรรให้กิจการบรอดแคสต์เหมือนในต่างประเทศ โดยคลื่นวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทยเริ่มที่ย่าน 510 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งต้องสิ้นสุดสัมปทานช่อง 3 และ ช่อง 7 ที่ใช้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ บางส่วนก่อน จึงจะเริ่มศึกษาแผน Digital Dividend


ดังนั้น การใช้ประโยชน์คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ขณะนี้ยังอยู่ในฝั่งกิจการบรอดแคสต์ และบางส่วนประมาณ 5-10% นำไปจัดสรรคลื่นทีวีดิจิทัล ซึ่งแผนการบริหารคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จะไม่กระทบกับการจัดสรรและประมูลช่องทีวีดิจิทัล ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้แน่นอน

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2013-06-14 12:11:46


ความคิดเห็นที่ 5 (3311443)

อสมท.เล็งประมูลทีวีดิจิตอล2ช่อง

อสมท.เล็งประมูลทีวีดิจิตอลอย่างน้อย 2 ช่อง SD ข่าว-ทั่วไป เตรียมพิจารณาปรับผังก.ค.นี้

นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) (MCOT) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะเข้าประมูลทีวีดิจิตอล 2 ช่อง ซึ่งเป็นช่องข่าวและช่องทั่วไป โดยเป็นช่องความคมชัดมาตรฐาน(SD) ส่วนอีก 1 ช่องที่มีความคมชัดสูง (HD) ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ เพราะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแนวโน้มจะออกหลักเกณฑ์ว่าผู้เข้าร่วมประมูลช่อง HD จะประมูลช่องข่าวไม่ได้ นอกจากนั้น ยังต้องศึกษาการแข่งขันด้านราคาประมูล คาดว่าการประมูลช่อง HD จะมีราคาที่สูงมากจากราคาเริ่มต้นที่ทาง กสทช.ตั้งไว้ 1,510 ล้านบาท ทำให้เบื้องต้นบริษัทต้องปรับแผนการประมูลทีวีดิจิตอลแค่ 2 ช่องเท่านั้น

"ถ้าจะประมูลช่อง HD กระแสเงินสดที่จะนำมาใช้ในการประมูลอาจจะไม่เพียงพอ จึงมองโอกาสในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร ซึ่งบริษัทได้รับความเชื่อถือจากสถาบันการเงิน เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง แต่ถ้าบริษัทได้ HD มา 1 ช่องก็ยังมีความเสี่ยงที่รายได้จะไม่ครอบคลุมต้นทุนในระยะแรก เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทมาจากค่าโฆษณา"

ส่วนแนวโน้มการปรับเพิ่มค่าโฆษณาในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันสูงทั้งในฟรีทีวีและทีวีดาวเทียม ทำให้ผู้ที่ต้องการลงโฆษณามีตัวเลือกหลากหลายขึ้น หากปรับขึ้นค่าโฆษณาอาจจะกระทบกับอัตราการใช้เวลาโฆษณา ทำให้รายได้ค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักปรับลดลง แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทพิจารณาปรับผังรายการในเดือน ก.ค.56 เพื่อพัฒนารูปแบบรายการให้เป็นที่สนใจ และดึงดูดให้คนมาลงโฆษณามากขึ้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ช.การไฟฟ้า วันที่ตอบ 2013-06-14 12:13:24



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.