ReadyPlanet.com


รวมข่าวดาวเทียมวันที่ 26 กค 2013


มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด "หมอเลี๊ยบ-2อดีตขรก.ไอซีที" " แก้สัญญาสัปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ปฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2556 เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2556 ที่ได้พิจารณาเรื่องกล่าวหา นายสุรพงษ์  สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับพวก อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยมิชอบ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 มีเนื้อหาดังนี้
 

สำหรับการชี้มูลของป.ป.ช. ดังกล่าว เป็นการกล่าวหานายสุรพงษ์  สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , นายไกรสร  พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ว่า อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ

 

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง มีนายภักดี  โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งการอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วน โดยไม่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ ผู้รับสัมปทาน เนื่องจากในกรณีที่บริษัท ไทยคมฯ ทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใด ๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ บริษัท ชินคอร์ปฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยคมฯ จึงไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงประมาณร้อยละ 11 ดังกล่าวย่อมเป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นจำนวนดังกล่าวออกไปด้วย


ทั้งการลดสัดส่วนดังกล่าวมีผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัท ชินคอร์ปฯ ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในบริษัท ไทยคมฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทาน แม้ว่าบริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ไทยคมฯ จะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าวก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปฯ ในบริษัท ไทยคมฯ จึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ไทยคมฯ ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร


คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว จึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 เสียง (นายกล้านรงค์  จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. อีกคนหนึ่ง ขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณา เนื่องจากได้เคยพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือคตส. แล้ว) ว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา คือ นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และนายไกรสร  พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ได้เสนอความเห็นให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์


และการกระทำของนายสุรพงษ์  สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยในส่วนของนายไกรสร  พรสุธี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อีกด้วย

 

ที่ประชุมป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 70 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 10

 

ด้านนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากกรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดเมื่อปี 2547 โดยขั้นตอนต่อไปจะส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์  ปลัดกระทรวงไอซีที ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่3 เปิดเผยกับ  “ประชาชาติธุรกิจ” ยืนยันว่าไม่เคยทุจริต หลังจากนี้จะต่อสู้ตามกระบวนการศาลต่อไป


ด้านแหล่งข่าวภายในกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า กระบวนการภายในกระทรวงหลังจากนี้จะต้องรอให้ทาง ป.ป.ช. ส่งหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการเพื่อให้กระทรวงรับทราบ  จากนั้นกระทรวงจะนำเข้าคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวง ซึ่งมีรัฐมนตรีไอซีทีเป็นประธาน เพื่อประชุมพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยต่อไป


“ปกติจะมีมาตรฐานการกำหนดโทษอยู่ว่า แต่ละความผิดต้องรับโทษในรูปแบบใดบ้าง  แต่ อ.ก.พ. จะพิจารณาเหตุผลประกอบด้วยว่า เป็นการกระทำผิดโดยจงใจหรือประมาท และมีเหตุลดหย่อนโทษเฉพาะตัวหรือไม่ อาทิ รับราชการมานาน เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับใดมาบ้าง  ซึ่งโดยปกติกระบวนการทั้งหมดกว่าจะได้ข้อยุติก็อย่างน้อย 30 วัน  ถึงจะทราบว่าปลัดไชยยันต์จะยังได้ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจาก อ.ก.พ. ก็ยังเป็นปลัดกระทรวงอยู่  ส่วนการลงโทษจะอยู่ในระดับใดคงไม่สามารถบอกได้ เพราะตั้งแต่ตั้งกระทรวงไม่เคยมีกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแบบนี้เลย”


ส่วนกรณีอดีตปลัดไกรสร  พรสุธี ซึ่งได้ลาออกจากราชการไปตั้งแต่ มี.ค. 2550 นั้น คงต้องดูอีกครั้งว่าฐานความผิดจะครอบคลุมการลงโทษทางวินัยได้แค่ไหน  เพราะปกติหากเกษียณอายุราชการไปแล้ว 180 วัน บางฐานความผิดไม่มีผลกระทบไปถึงบำเหน็จบำนาญที่ได้รับไปแล้ว แต่ในกรณีที่ลาออกจากราชการคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ด้วย


สำหรับปลัดกระทรวงไอซีทีคนปัจจุบัน นายไชยยันต์  พึ่งเกียรติไพโรจน์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2547 ถึง 28 ธ.ค. 2553  ก่อนที่จะเป็นรองปลัดกระทรวงไอซีทีเมื่อ 29 มิ.ย. 2555 และขึ้นเป็นปลัดกระทรวง 1 ต.ค. 2555  มีกำหนดจะเกษียณอายุราชการในอีก 6 ปีข้างหน้า
 

 


 



ผู้ตั้งกระทู้ ข่าวดาวเทียม :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-26 10:06:35


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.